เปิด 3 มุมคิด “ศุภาลัย – แสนสิริ – เอพี” สร้างแบรนด์ยั่งยืน

Last updated: 26 ก.ย. 2566  |  272 จำนวนผู้เข้าชม  | 

behabitation

จากงานเสวนา “กรุงเทพจตุรทิศ : จัด 9 ทัพ รับศึก 10 ทิศ สู้วิกฤติอสังหาฯ” จัดขึ้นโดย prop2morrow มีผู้นำธุรกิจนักพัฒนาอสังหาฯ ชั้นนำร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมองและแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงรวมถึงผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มชี้ไปที่การฟื้นตัวช้า

โดยเชษฐวัฒก์ ทรงประเสริฐ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในปี 2566- 2567 ว่า การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการการฟื้นตัวแบบค่อนเป็นค่อยไป เนื่องมาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังเติบโตต่ำ

ทั้งนี้มีปัจจัยกดดันคือภาวะหนี้ครัวเรือน อัตราดอกเบี้ย ที่เป็นตัวฉุดทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ราคาที่ดิน ค่าแรง ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนอสังหาฯ สูงขึ้น จึงทำให้ราคาเพิ่มขึ้น แต่ผู้บริโภคยังมีภาระและรายได้ไม่เติบโตตาม โดยสิ่งที่ทำให้การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคเปลี่ยนไป คือ ราคาและทำเล จากเดิมที่ช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 คนตัดสินใจซื้อ โดยพิจารณาจากขนาดของพื้นที่เป็นหลัก

แต่พฤติกรรมเปลี่ยนไปในช่วงโควิด-19 จากคนเลือกบ้านเดี่ยว หรือ ทาวน์เฮาส์ เปลี่ยนมาสู่คอนโดมิเนียม เพื่อสะดวกในการเดินทางเข้าเมือง ทำงาน ติดรถไฟฟ้า แม้จะเป็นทำเลชั้นกลางเมือง หรือ นอกเมืองแต่ติดรถไฟฟ้า เพราะเน้นใกล้สิ่งอำนวยความสะดวก โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ระดับราคาที่คนสนใจ คือคอนโดมีเนียมตั้งแต่ 1-3 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตามคาดว่าภาพรวมจะทยอยกลับมาฟื้นตัวในปี 2567 ส่วนแนวราบ ทาวน์เฮาส์ คาดว่าจะมีการจำหน่ายไม่มากนักแต่ที่ขายดีคือ กลุ่มทาวน์เฮาส์มือ 2 เพราะราคาจับต้องได้ด้านหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปี 2566 ยังอยู่ภาวะทรงตัว ทั้งในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด ขณะที่หากแยกเป็นคอนโดฯ ยังมีการขยายตัวได้ดี ทั้งมือ 1 และมือ 2 โดยคาดว่าจะดีขึ้นภายในปีหน้า 


เปิด 3 มุมคิดเรียลเอสเตท สร้างแบรนด์ยั่งยืน

แบรนด์บ้านที่คนไทยให้ความเชื่อถือและไว้วางใจมานานอย่าง ศุภาลัย แสนสิริ และเอพี ต่างร่วมบอกเล่ากลยุทธ์การทำตลาดและการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งบนสถานการณ์วิกฤตต่างๆ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันจะมีแนวโน้มชี้ไปที่การฟื้นตัวช้า

‘ศุภาลัย” เจาะตลาดบ้านต่างจังหวัด ด้วยมาตรฐานคุณภาพเดียวกันทุกหลัง

ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ศุภาลัย เริ่มเบนเข็มไปลงทุนต่างจังหวัดมากขึ้น และประสบความสำเร็จอย่างดี เพราะพัฒนาโครงการมาตรฐานเดียวกันกับกรุงเทพ มีความเป็นมืออาชีพ เมื่อปักธงในพื้นที่จังหวัดไหนแล้ว จะมีการพัฒนาโครงการต่อเนื่อง วางแผนระยะยาว มีการสร้างทีม พนักงาน และองค์ความรู้ให้กับคนในพื้นที่และปรับตัวเข้ากับคนในท้องถิ่น ทั้งนี้การที่จะดูว่าจังหวัดนั้นเติบโตหรือไม่ ให้ดูที่พนักงานศุภาลัยในต่างจังหวัด หากซื้อบ้านศุภาลัย ถือเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญสำหรับภาพรวมอสังหาฯ

ไตรเตชะ_ตั้งมติธรรม ศุภาลัย

โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาถือว่ายังไม่เติบโต หากนับจำนวนยูนิตในการเปิดตัวในตลาด แต่มูลค่ารวมมีการเติบโต 2-3% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสูงขึ้น 20% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมาจากต้นทุนวัสดุก่อสร้าง การก่อสร้าง ราคาที่ดิน แรงงาน ทำให้อัตราการผ่อนที่อยู่อาศัยในระดับไม่เกิน 5 ล้านบาท ในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,904 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 9.9% เทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา ที่ผ่อนชำระเฉลี่ยอยู่ที่ 24,462 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ใช้ดอกเบี้ยอีกส่วนในการขอกู้ซื้อบ้าน ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ส่งผลในระดับโครงสร้างของการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ด้วยตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้สอดรับกับสถานกาณ์ โดยมองนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีความสามารถในการปรับตัว

อีกทั้งทำให้นักพัฒนามุ่งไปยังตลาดภูมิภาคอย่างชัดเจน ซึ่งหลายจังหวัดมีการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจจากภาคเอกชนและภาครัฐทำให้ผู้คนในจังหวัดมีกำลังซื้อมากขึ้น  สำหรับบ้านศุภาลัยนั้น สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จในภูมิภาคคือ การพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยให้รองรับและเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนในท้องถิ่นของจังหวัดนั้น มีความสัมพันอันดีกับคนในพื้นที่จนเกิดความเชื่อใจ

“แสนสิริ” ปั้นรายได้ สร้างแบรนด์จากไลฟ์สไตล์ลูกค้า

อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI กล่าวว่า บริษัทสร้างแบรนด์จากการมองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเป็นหลัก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลยุทธ์ทางการตลาดที่แข็งแกร่ง ส่วนในช่วงโควิด-19 ระบาด ตลาดมีความเปลี่ยนไปค่อนข้างมากคอนโดมีเนียมมีสัดส่วนลดลงคนส่วนใจที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้น แต่หลังภาวะโควิด-19 ตลาดคอนโดมีเนียมเริ่มกลับมา ทำให้ตั้งแต่ปี 2565ที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดให้ขยายไปยังลูกค้าทุกกลุ่มทั้งแนวราบและแนวสูง โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวมีการขยายฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น

อุทัย_อุทัยแสงสุข แสนสิริ

สำหรับปี 2566 มีการเดินหน้าโครงการบ้านเดี่ยวบนทำเลน่าสนใจในกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ เช่น โครงการ Narasiri และ Bu GAAN ซึ่งเป็นบ้านเดี่ยวทำเลกลางเมือง รวมถึงโครงการลูกค้าระดับกลาง เช่น SETTASIRI เป็นต้น ส่วนกลุ่มลูกค้าโมเดิร์นที่ต้องการราคาบ้านเดี่ยวราคาระดับ 8-15 ล้านบาท ค่อนข้างได้รับผลตอบรับที่ดี และในกลุ่มลูกค้าที่ต้องการอยู่ใกล้เมืองและมีกำลังซื้อในบ้านแฝด แสนสิริได้เปิดหลายโครงการเพื่อรองรับ

ขณะที่คอนโดมีเนียมจะมีการเปิดโครงการแบรนด์ใหม่เพิ่มขึ้น เช่น  SUSH ,NIA และVay เป็นต้น ทั้งนี้แสนสิริพัฒนาโครงการของคอนโดมีเนียมในรูปแบบคอมมูนิตี้มากขึ้น ซึ่งมีการซื้อที่ดินแปลงใหญ่มากขึ้นให้สามารถพัฒนาโครงการได้หลากหลายรูปแบบ สร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกันในรูปแบบของชุมชนเมืองหนึ่ง

ส่วนคอนโดมีเนียมในกลุ่มลูกค้าต่างชาติค่อนข้างน่าสนใจ เนื่องจากลูกค้าต่างชาติสามารถซื้อผ่านบริษัทอสังหาริมทรัพย์ได้ตามกฎหมายกำหนดและในกลุ่มต่างจังหวัดมีการดำเนินงานในหลายหัวเมืองต่างจังหวัดไปบ้างแล้วเนื่องจากเป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยแสนสิริยังเป็นอันดับ 1 ที่ครองตลาดต่างชาติ

“เอพี” แบรนด์บ้านที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน

วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP กล่าวว่า การสร้างแบรนด์ให้สอดรับกับเป้าประสงค์ของบริษัทเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของเอพี เมื่อสร้างแบรนด์ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงจะส่งผลโดยรวมกับทั้งองค์กร พนักงานมีความเข้าใจเป้าหมายความต้องการขององค์กรทำให้เมื่อพบวิกฤตต่างๆ พนักงานรู้หน้าที่และสามารถทำงานได้ต่ออย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาด เอพีผ่านมาได้ด้วยความเข้าใจและร่วมกันทำงานตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เอพีมีกระบวนการในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานภายในมาตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมาจนกลายเป็น DNA ของคนเอพี เมื่อเกิดความเข้าใจแล้วการครีเอทโปรดักซ์ต่างๆ ที่ออกมาตอบโจทย์ลุกค้าได้มากที่สุด

วิทการ_จันทวิมล AP

จุดแข็งของเอพีคือการออกแบบพื้นที่ใช้สอยของที่อยู่อาศัยและทำเลที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งมองว่าลูกค้าต้องการให้บ้านมีชีวิตที่เติบโตไปกับผู้อยู่อาศัยได้ เอพีจึงมีแนวคิดในการทำงานภายในและใช้ในการครีเอทโปรดักซ์ คือ ชีวิตดีๆ ที่เลือกเองได้ หรือ Empower Living ส่งต่อมาถึงแผนการทำงาน และการออกแบบสินค้าใน 16 แบรนด์ และ 7 การบริการ ให้สร้างประสบการณ์และพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ชีวิตของลูกค้า จนทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ และมีความผูกพันธ์และรักในแบรนด์

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้