Last updated: 26 ก.ย. 2566 | 327 จำนวนผู้เข้าชม |
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังกระเตื้องขึ้นตามความคาดหวัง หลังจากหลายฝ่ายเคยคาดการณ์ว่าตลาดท่องเที่ยวจะกลับมาเติบโตและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ประกอบกับช่วงสุญญากาศของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ผู้บริโภคจึงต้องรัดเข็มขัดและวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบ และติดตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 56.9 เพิ่มจาก 55.6 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อย
โดยสอดคล้องกับข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุดของดีดีพร็อพเพอร์ตี้พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภคชาวไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50% จากเดิม 49% ในรอบก่อน
ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าความชัดเจนทางการเมืองเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยขับเคลื่อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้กลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ความท้าทายทางเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังคงกระทบต่อสภาพคล่องของผู้บริโภคโดยตรง ส่งผลให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคปรับลดลงมาอยู่ที่ 63% จากเดิม 65% ในรอบก่อนหน้า
โดยมีผู้บริโภคเพียง 15% เท่านั้นที่มองว่ารัฐบาลมีความพยายามเพียงพอที่จะช่วยให้ซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้ ลดลงจาก 19% ในรอบก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความพึงพอใจในสภาพตลาดที่อยู่อาศัยปัจจุบันนั้นยังคงทรงตัวอยู่ที่ 65% โดยผู้บริโภคเกือบครึ่ง 47% เผยว่ามีความพึงพอใจเนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยในเวลานี้ยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ตามมาด้วยมองว่าตลาดที่อยู่อาศัยมีเสถียรภาพและยืดหยุ่น และเห็นโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ในสัดส่วนเท่ากันที่ 36%
คนไทยมีความพร้อมทางการเงินมากแค่ไหน?
ข้อมูลจากแบบสอบถามฯ พบว่า ผู้บริโภค 53% วางแผนซื้อที่อยู่อาศัยในอีก 1 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งคือ 52% ในรอบก่อนหน้า ถือเป็นสัญญาณบวกที่แสดงให้เห็นความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น แม้ความท้าทายจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ จะยังไม่คลี่คลายก็ตาม ขณะที่สัดส่วนของผู้เลือกเช่าที่อยู่อาศัยยังทรงตัวอยู่ที่ 9% ส่วนอีก 38% ยังไม่มีการวางแผนซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยใดๆ
คนซื้อบ้านเพิ่มพื้นที่ส่วนตัว แต่ความพร้อมการเงินลดลง เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภค 44% ตัดสินใจซื้อที่อาศัยมาจากต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากที่สุด รองลงมาคือ ซื้อเพื่อการลงทุน 28% และต้องการพื้นที่สำหรับพ่อแม่/บุตรหลานเพื่อรองรับการขยายครอบครัว 24%
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาความพร้อมทางการเงินของผู้บริโภคพบว่ากลับมีแนวโน้มลดลง มีผู้ที่วางแผนซื้อที่อยู่อาศัยเพียง 24% เท่านั้นที่มีเงินออมเพียงพอที่จะซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยสัดส่วนลดลงจาก 32% ในรอบก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของเศรษฐกิจที่มีต่อการวางแผนการเงินอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นที่ส่งผลต่อการซื้อและการผ่อนชำระอสังหาฯ โดยตรง ขณะที่ผู้บริโภค 54% เผยว่าเก็บเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น ส่วน 1 ใน 5 ของผู้วางแผนซื้อที่อยู่อาศัยนั้น 21% ยังไม่ได้เริ่มแผนเก็บเงินใดๆ เลย
“เงินไม่พอ-บ้านแพงเกินเอื้อม” ผลักดันให้เช่า เหตุผลหลักของผู้ที่เลือกเช่าที่อยู่อาศัยใน 1 ปีข้างหน้านั้น 64% เผยว่ายังไม่มีเงินเก็บเพียงพอในการซื้อที่อยู่อาศัย ขณะที่ 41% มองว่าที่อยู่อาศัยมีราคาแพงเกินไป จึงเลือกเก็บเงินไว้แทน และไม่เห็นความจำเป็นหรือความเร่งด่วนที่ต้องซื้อในเวลานี้ 30%
โดยสะท้อนให้เห็นว่าความท้าทายทางการเงินยังคงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนใจจากการซื้อมาเช่าแทน เทรนด์ Generation Rent ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากมุมมองการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไป ผู้บริโภคไม่ต้องการเพิ่มค่าใช้จ่ายจากการซื้อบ้าน/คอนโดฯ ที่เป็นภาระผูกพันในระยะยาว
นอกจากนี้ การเช่ายังได้เปรียบตรงที่ยืดหยุ่นและคล่องตัวมากกว่าหากต้องการโยกย้ายที่อยู่อาศัยในอนาคต
แนวคิดรักษ์โลกมาแรง ตอบโจทย์คนหาบ้าน
“ขนาด-ความปลอดภัย” ปัจจัยหลักดึงคนซื้อ/เช่า ปัจจัยภายในที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคนั้น 45% จะพิจารณาจากขนาดที่อยู่อาศัยเป็นอันดับแรก โดยให้ความสำคัญกับบ้าน/คอนโดฯ ที่มีพื้นที่ใช้สอยตอบโจทย์การใช้งานของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก ตามมาด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกภายในที่พัก 41% และราคาเฉลี่ยต่อพื้นที่ใช้สอย 38% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคพิจารณาโดยเน้นที่ความคุ้มค่าเป็นหลัก
ขณะที่ปัจจัยภายนอกโครงการที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยนั้น 51% ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของโครงการมากที่สุด โดยโครงการที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดูแลด้านนี้จะตอบโจทย์คนหาบ้านมากที่สุด
เนื่องจากช่วยสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของทรัพย์สินทั้งในเวลาอยู่อาศัยหรือออกไปทำงาน รองลงมาคือเดินทางได้สะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 50% และทำเลที่ตั้งของโครงการ 47% หากอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพหรือมีแผนพัฒนาในอนาคต จะเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้นหากต้องการขายหรือปล่อยเช่า
PropTech ผู้ช่วยสำคัญของคนหาบ้านยุคดิจิทัล เทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ (PropTech) ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักมากขึ้นในไทย จากเดิมที่ผู้บริโภคใช้เพียงช่องทางออนไลน์ในการค้นหาที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการเลือกใช้ PropTech หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้รองรับไลฟ์สไตล์ดิจิทัลและตอบโจทย์การหาบ้านในยุคนี้ โดย 67% เผยว่าเว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสเป็นสิ่งที่ใช้มากที่สุดเมื่อต้องการซื้อที่อยู่อาศัย
รองลงมาคือเครื่องมือคำนวณข้อมูลทางการเงิน 46% และการเยี่ยมชมโครงการเสมือนจริง 31% นอกจากนี้ ผู้บริโภค 87% เห็นความสำคัญของ PropTech และมองว่าผู้พัฒนาอสังหาฯ ควรนำมาใช้ในอาคารที่สร้างใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัย
ภาวะโลกเดือดดันคนมองหาบ้านรักษ์โลก หลังจากเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และตอนนี้โลกกำลังเข้าสู่ยุคภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ส่งผลให้หลายฝ่ายต่างกังวลและตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ผู้พัฒนาอสังหาฯ เริ่มหันมาพัฒนาโครงการที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของคนหาบ้านยุคนี้ โดยผู้บริโภค 85% ให้ความสนใจบทความเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ 41% เผยว่ายินดีจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยที่มีแนวคิดรักษ์โลก (Green Home) ขณะที่ 56% เปิดรับแนวคิดนี้แต่ตอนนี้ยังไม่แน่ใจ มีเพียง 3% เท่านั้นที่ไม่สนใจประเด็นนี้
ฝุ่น PM 2.5 ทำคนลังเลซื้อบ้าน ผู้บริโภค 91% เผยว่ายินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยที่มีคุณสมบัติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญกับแนวคิดการอยู่อาศัยที่สร้างความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและผู้อยู่อาศัยเอง ขณะที่ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ได้กลายเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคเช่นกัน
โดย 57% เผยว่าจะเลือกพิจารณาเฉพาะโครงการที่มีเครื่องปรับอากาศและระบายอากาศได้ดีเท่านั้น ตามมาด้วย 53% จะคิดทบทวนการซื้อที่อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงอีกครั้ง ขณะที่อีก 35% จะพิจารณาการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีฟังก์ชั่นช่วยแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะและ 35% จะพิจารณาการย้ายไปอยู่แถบชนบทแทน
หวังรัฐบาลใหม่ออกมาตรการเพิ่ม ขับเคลื่อนตลาดอสังหาฯ
สภาพเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อสภาพคล่องและแผนการเงินของผู้บริโภค ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายลดลง โดยเฉพาะในการซื้ออสังหาฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องมีการวางแผนก่อนตัดสินใจซื้อ มีราคาสูง และมีระยะเวลาผ่อนชำระยาวนาน
ทั้งนี้ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่องได้สร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคเช่นกัน จึงทำให้ตลาดอสังหาฯ ไม่เติบโตคึกคักอย่างที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ผู้บริโภค 34% ตัดสินใจชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปก่อนเนื่องจากเงินเก็บได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจตอนนี้ ตามมาด้วย 22% ไม่มีแผนซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคตอันใกล้นี้ และอีก 20% วางแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคาถูกลงแทน
อย่างไรก็ดี หลังจากมีการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จสิ้น ถือเป็นการจุดประกายให้ภาคอสังหาฯ มีความหวังอีกครั้ง ผู้บริโภคต่างคาดหวังและตั้งตารอมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ ของรัฐบาลชุดนี้ที่จะออกมาในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางและล่าง ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ยังคงเผชิญความท้าทายทางการเงินมากกว่ากลุ่มอื่น
3 อันดับมาตรการฯ อสังหาเดิมที่คาดหวังให้รัฐบาลใหม่สานต่อ 69% ต้องการให้ภาครัฐสานต่อมาตรการลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์และการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ตามมาด้วยมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Loan to Value: LTV 47%และต้องการให้ขยายระยะเวลาเช่าให้มากกว่า 30 ปี 44% ซึ่งคาดว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนให้การซื้อขายอสังหาฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่มาตรการฯ ใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาลในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่ 68% ต้องการให้มีมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ตามมาด้วยมาตรการลดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งสินเชื่อที่มีอยู่และกู้ใหม่ 65% และมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก 54% ซึ่งมาตรการเหล่ามีความครอบคลุมและส่งเสริมการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยทั้งในกลุ่ม Real Demand และกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้การซื้อขายในตลาดอสังหาฯ กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง
19 ธ.ค. 2567